การแต่งกายไว้ทุกข์ ชุดดำ ควรแต่งอย่างไรให้ดูสุภาพ


การแต่งกายไว้ทุกข์
         
          การแต่งกายไว้ทุกข์ เพื่อไว้อาลัย จะต้องแต่งอย่างไรถึงจะดูสุภาพ


          ด้วยความอาลัยอย่างสุดซึ้งเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต พสกนิกรชาวไทยจึงพร้อมใจกันแต่งกายไว้ทุกข์ด้วยชุดสีขาว-ดำ ทั้งนี้เพื่อความถูกต้อง และถูกกาลเทศะ การแต่งกายไว้ทุกข์เพื่อถวายความอาลัยควรจะปฏิบัติอย่างไร เรามีแนวทางมาบอกให้ทราบกันค่ะ


          สำหรับ "การแต่งกายไว้ทุกข์" ตามจารีตประเพณีแต่โบราณของไทย มักจะแต่งกายในชุดขาว-ดำ เพื่อเป็นการไว้อาลัยและเคารพต่อผู้ที่จากไป โดยคนที่ใส่สีดำนั้นจะเป็นการบ่งบอกว่าเป็นญาติผู้ใหญ่ มีตำแหน่งสูง หรือสูงวัยกว่าผู้ตาย ส่วนสีขาวคือผู้ที่อายุน้อยกว่า หรือมีตำแหน่งต่ำกว่าผู้ตาย ทั้งนี้ต่อมาได้มีการนำวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา การแต่งกายไว้ทุกข์จึงเปลี่ยนเป็นสีดำ หรือขาว-ดำ แต่ในกรณีของพระมหากษัตริย์นั้น ประชาชนควรใส่สีดำเป็นพื้นฐาน หรือถ้าหากไม่มีจริง ๆ อาจใส่สีขาวหรือสีเทาสลับกันได้ แต่ควรเป็นแบบที่สุภาพ และไม่มีลวดลาย

การแต่งกายไว้ทุกข์แบบสุภาพควรแต่งอย่างไร

การแต่งกายไว้ทุกข์
         
          เสื้อ -
ไม่ควรใส่เสื้อที่รัดรูปมากจนเกินไป ควรเป็นเสื้อแบบมีแขน คอไม่กว้าง ไม่มีลวดลาย และไม่ควรมีตราสัญลักษณ์อยู่บนเสื้อ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และผิดกาลเทศะ สำหรับสีนั้นควรใส่สีดำเป็นหลัก แต่ถ้าหากไม่มีจริง ๆ อาจใส่สีขาวหรือสีเทา และติดริบบิ้นสีดำไว้อาลัยที่หน้าอกด้านซ้ายแทนได้

การแต่งกายไว้ทุกข์
         
          กางเกง -
ควรเป็นกางเกงขายาว หากใส่ไว้อาลัยทั่วไปสามารถใส่กางเกงยีนส์ได้ แต่ไม่ควรเป็นกางเกงยีนส์ขาด และควรใส่สีเข้มเท่านั้น ทั้งนี้ในกรณีที่ใส่ไปร่วมถวายสักการะพระบรมศพควรเป็นกางเกงขายาวแบบไม่รัดรูป ไม่ควรใส่กางเกงยีนส์หรือสกินนี่

การแต่งกายไว้ทุกข์
         
          กระโปรง หรือชุดเดรส -
ควรเป็นกระโปรงที่ยาวคลุมเข่า แบบที่สุภาพเรียบร้อย สำหรับชุดเดรสที่เป็นแขนกุดควรหาเสื้อนอกสีดำแบบเรียบ ๆ มาคลุมทับ อย่างเช่น เสื้อคาร์ดิแกน หรือเสื้อสูท เป็นต้น

การแต่งกายไว้ทุกข์
         
          รองเท้า -
รองเท้าควรเป็นแบบที่สุภาพ มีปิดด้านหน้าและด้านหลัง อาจจะเป็นสีดำหรือสีเรียบ ๆ ไม่มีการประดับตกแต่งแวววาว

          นอกจากนี้ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้ออกประกาศแนวทางเรื่องการแต่งกายไว้ทุกข์เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต โดยระบุว่า
          ตามที่ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และรัฐบาลได้กำหนดให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ทุกข์มีกำหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป

          เพื่อให้การแต่งกายไว้ทุกข์เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต เป็นไปด้วยความเหมาะสมและสอดคล้องกับระเบียบการแต่งกายไว้ทุกข์ในงานศพ พุทธศักราช 2484 จึงเห็นสมควรกำหนดการแต่งกายของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไว้ดังนี้
1. กรณีไปร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ

          ให้ข้าราชการแต่งเครื่องแบบตามหมายรับสั่งหรือหมายกำหนดการของพระราชวัง โดยให้ใช้ผ้าสักหลาดหรือผ้าโปร่งสีดำ ขนาดกว้างระหว่าง 7 ถึง 10 เซนติเมตร พันแขนเสื้อเบื้องบน

2. กรณีไม่ได้ร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ

          2.1 กรณีแต่งเครื่องแบบปฏิบัติราชการ (เครื่องแบบสีกากีคอพับ และเครื่องแบบสีกากีคอแบะ) การแต่งเครื่องแบบไม่ต้องใช้ผ้าสักหลาดหรือผ้าโปร่งสีดำดังกล่าวพันแขนเสื้อซ้ายเบื้องบน

          2.2 กรณีการแต่งกายทั่วไป ในการปฏิบัติราชการ

          2.2.1 ข้าราชการชาย ให้แต่งด้วยเสื้อเชิ้ตสีขาวหรือสีดำ ผูกเนคไทสีดำ หากจะสวมเสื้อสูทหรือเสื้อคลุมให้ใช้สีดำ โดยอาจใช้ผ้าสักหลาดหรือผ้าโปร่งสีดำดังกล่าวพันแขนเสื้อเบื้องบนได้ตามสมควร

          2.2.2 ข้าราชการหญิง ให้แต่งกายสุภาพตามรัฐพิธี โดยให้ใช้เครื่องดำล้วน

          3. กรณีข้าราชการที่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างอื่นเป็นการเฉพาะให้แต่งกายตามนั้น
          4. กรณีการแต่งกายของพนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ให้อนุโลมตามข้อ 1 และข้อ 2

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม